วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2554

นวัตกรรมการเรียนรู้

นวัตกรรมการเรียนรู้สู่การพัฒนาการศึกษา

การคิดสร้างสรรค์หรือกรรมวิธีใหม่ๆ ซึ่งต่างไปจากที่เคยปฏิบัติมาใช้แก้ปัญหาในการปฏิบัติงานต่างๆ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงปรับปรุงวิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เราเรียกว่า  นวัตกรรม ”  นวัตกรรมตรงกับคำว่า    “ innovation ”  ในภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลว่า To renew  หรือ To modify หรือ ทำขึ้นมาใหม่  ดังนั้น คนเราจึงควรมีนวัตกรรม คือ ต้องรู้จักสร้างสรรค์ ต้องมีความพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้า เพื่อปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน ในการพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ และเพื่อให้เกิดประสิทธิผลในบั้นปลายนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ ครู-อาจารย์ จะต้องพยายามค้นคว้าวิธีการใหม่ๆ ที่คิดค้นขึ้นในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเรียกว่า นวัตกรรมการศึกษา นั่นเอง ฉะนั้นคำว่า นวัตกรรมการศึกษา จึงหมายถึง การนำสิ่งใหม่ๆ แนวความคิดวิธีการหรือการกระทำใหม่ๆ ซึ่งได้ผ่านการทดลอง วิจัย หรืออยู่ระหว่างการทดลอง หรือ อาจเป็นสิ่งที่เคยใช้แล้วมาปรับปรุงใหม่มาใช้ในการศึกษาเพื่อปรับปรุง หรือเพิ่มประสิทธิภาพ ให้ดี ยิ่งขึ้น
ในการจัดกระบวนการเรียนการสอน โดยนำนวัตกรรมการศึกษามาประยุกต์ใช้ จะช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง  สามารถเรียนรู้ได้ทุกเวลาตามความต้องการ  นวัตกรรมการเรียนรู้ จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัย วิถีคิด ที่ออกนอกกรอบเดิม พอสมควร คือ จะต้อง ออกนอก  ร่อง  หรือ ช่องทางเดิมๆ ที่เคยชิน เรียกได้ว่า จะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิด หรือ กระบวนทัศน์ที่มีอยู่เดิมเกี่ยวกับการเรียนรู้เสียใหม่ จากที่เคยเข้าใจว่าการเรียนรู้ คือ การศึกษาเพียงเพื่อให้ได้รู้นั้น มาเป็นการเรียนรู้ที่นำมาใช้พัฒนางาน พัฒนาชีวิต และพัฒนาสังคมประเทศชาติ ซึ่งเป็นความรู้ที่แนบแน่นอยู่กับงาน เกี่ยวพันอยู่กับปัญหา  เป็นความรู้ที่มีบริบท การเรียนรู้ตามกระบวนทัศน์ใหม่นี้จึงมักเริ่มต้นด้วยการพัฒนาตัวโจทย์ขึ้นมาก่อน  โดยใช้ปัญหาหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเป็นหลักเรียกได้ว่ามีความต้องการที่จะแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาสิ่งต่างๆให้ดีขึ้นจึงเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เกิดการเรียนรู้นี้ขึ้น มีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้เอง  สามารถคิดเอง  ทำเอง และแก้ปัญหาเองได้ โดยครูเป็นเพียงผู้ชี้แนะ คอยให้คำแนะนำในการเรียนรู้  ที่ถูกต้องและเหมาะสมในการทำนวัตกรรมให้ประสบผลสำเร็จได้นั้น  ต้องเริ่มจากการให้คำมั่นร่วมกันระหว่างคนเกี่ยวข้องในการทำนวัตกรรม  โดยทุกคนที่เกี่ยวข้องจะต้องมีความตั้งใจที่จะพัฒนาสินค้าและตราสินค้าเพื่อให้เกิดความมั่นคงร่วมกัน  การปรับเปลี่ยนรกระบวนทัศน์   ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เพียงแค่ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์หรือวิถีคิดแล้วนวัตกรรมการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้เองโดยปริยาย จำเป็นจะต้องอาศัยปัจจัยและองค์ประกอบอื่นๆ      มาสนับสนุนจึงจะประสบผลสำเร็จ 

องค์ประกอบหลัก  ที่ถือว่าจำเป็นต่อการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นซึ่งได้แก่
1) เวลา  -  พูดง่ายๆและตรงที่สุดก็คือถ้าไม่มีเวลา การเรียนก็ไม่เกิด หรือเกิดได้ยาก  เวลาเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งสำหรับการเรียนรู้  องค์กร ชุมชน หรือครอบครัวใดที่มัวแต่ยุ่ง  ตกอยู่ในสภาพที่เรียกว่า โงหัวไม่ขึ้น  จะทำให้หมดโอกาสที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ  และไม่มีเวลาสำหรับใช้คิดสร้างสรรค์ได้เลย
2) โอกาส หรือเวที  -  สำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน   วิธีการแลกเปลี่ยนอาจจัดเวทีการเรียนรู้ที่มีรูปแบบที่หลากหลาย  คือมีทั้งเวทีที่จัดขึ้นอย่างเป็นทางการ  เช่น การจัดประชุม  สัมมนาในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น  และเวทีในรูปแบบที่อาจจะไม่เป็นทางการมากนัก  คือ อาจจะจัดในลักษณะที่เป็นการร่วมตัวของคนที่สนใจ  ไม่มีการบังคับ
3) ไมตรี  -  ต้องมีน้ำใจให้แก่กัน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้คงจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน  ถ้าต่างฝ่ายต่างไม่ยื่นน้ำใจอันดีแก่กัน  นวัตกรรมการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้จึงจำเป็นต้องอาศัยใจที่เปิดกวาง  ต้องเป็นใจที่ว่าง  ว่างพอที่จะรับสิ่งใหม่ๆ ที่หลั่งไหลเข้ามาโดยไม่ยึดติดอยู่กับสิ่งเก่าๆ จะต้องพัฒนาให้คนมีความสามารถที่จะละทิ้งสิ่งเก่าๆได้  ด้วยใจที่ไม่มีอคติ  ต้องมองทุกสิ่งทุกอย่างที่เห็นในลักษณะที่ใหม่หมด  สดเสมอให้เป็นความรู้สึกเหมือนกับเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก  ไม่ซ้ำกับสิ่งที่ได้เกิดไปแล้วในอดีต   เป็นความรู้สึกตื่น  ต้องการ  แบ่งปัน  และกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

 แนวความคิดพื้นฐานที่ทำให้เกิดนวัตกรรมการเรียนรู้  ได้แก่
1) แนวความคิดเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual differences)   จากที่เราได้เคยศึกษาทางด้านจิตวิทยาเกี่ยวกับมนุษย์นั้น พบว่า มีความแตกต่างกัน ทั้งด้านกายภาพ ได้แก่ ร่างกาย ,ด้านสติปัญญา ได้แก่ ความคิด  ความรู้สึก การรับรู้และการเรียนรู้สิ่งต่างๆ  ดังนั้นในการจัดการเรียนการสอนจึงควรจัดให้สอดคล้องกับผู้เรียน เช่น ความถนัด ความสนใจ ความสามารถของแต่ละคน อัตราการเรียนเร็วช้าของแต่ละคน เช่นผู้เรียนที่เรียนรู้ได้เร็วจะได้ศึกษาค้นคว้าต่อไป โดยไม่ต้องเสียเวลา ส่วนผู้เรียนช้าก็สามารถเรียนได้ตามอัตราการเรียนรู้ของตนโดยไม่เกิดปมด้อย นอกจากนี้ยังสามารถตอบนสนองทั้งด้านรูปแบบของแต่ละคน ซึ่งแนวคิดเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างบุคคลนี้ เป็นผลให้เกิดนวัตกรรมการศึกษา ได้แก่ บทเรียนโปรแกรม หรือ บทเรียนสำเร็จรูป เครื่องช่วยสอน คอมพิวเตอร์ช่วยสอน ชุดการสอนรายบุคคล เป็นต้น
2) แนวความคิดพื้นฐานในเรื่องความพร้อม (Readiness)   แต่เดิมเคยมีความเชื่อว่าผู้เรียนจะเริ่มเรียนได้ต้องมีความพร้อมโดยเป็นไปตามลำดับขั้นตอนของพัฒนาการ ปัจจุบันทางด้านจิตวิทยาการเรียนรู้ได้ศึกษาพบว่า ความพร้อมทางการเรียนเป็นสิ่งที่สามารถจัดขึ้นได้โดยการจัดบทเรียน ลำดับเนื้อหาจากง่ายไปยาก และเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมให้เหมาะสมกับระดับความสามารถของผู้เรียนก็จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี นวัตกรรมการศึกษาที่เชื่อมกับแนวคิดนี้ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้ ชุดการสอน
3) แนวคิดพื้นฐานในเรื่องเวลาเพื่อการศึกษา   แต่เดิมจะระบุไว้แน่นอน ตายตัว เป็นภาคเรียน แนวคิดในเรื่องการใช้เวลาเพื่อการศึกษานี้ เพื่อให้สัมพันธ์และมีความเหมาะสมกับลักษณะของรายวิชาแต่ละวิชา ซึ่งจะใช้เวลาไม่เท่ากันเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้เวลาในการศึกษาตามความสามารถและความจำเป็นของแต่ละคนนวัตกรรมที่ตอบสนองการเรียนรู้นี้ได้แก่ ตารางเรียนแบบยืดหยุ่น มหาวิทยาลัยเปิด เป็นต้น
4) แนวคิดพื้นฐานจากผลอันเนื่องมาจากการขยายตัวทางวิชาการและอัตราการเพิ่มของประชากร                       ซึ่งผลกระทบดังกล่าว ทำให้ความต้องการทางด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นตลอดจนความจำเป็นที่ต้องศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และการดำรงชีวิต  อีกทั้งการศึกษาในระบบนั้นไม่สามารถจัดให้ได้อย่างเพียงพอ เป็นผลที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมการศึกษา ได้แก่  มหาวิทยาลัยเปิด (open  university)  การเรียนทางวิทยุโทรทัศน์   การเรียนทางไปรษณีย์       แบบเรียนสำเร็จรูป  และชุดการเรียนนวัตกรรมสื่อการเรียนการสอน  แบ่งตามคุณลักษณะได้ 4 ประเภทคือ
1.     สื่อประเภทวัสดุ ได้แก่  สไลด์  แผ่นใส  เอกสารตำราสารเคมี สิ่งพิมพ์ต่างๆ และคู่มือการฝึกปฏิบัติ
2.     สื่อประเภทอุปกรณ์  ได้แก่  ของจริง  หุ่นจำลอง  เครื่องเล่นเทปเสียง  เครื่องเล่นวีดีทัศน์  เครื่องฉายแผ่นใส อุปกรณ์และเครื่องมือในห้องปฏิบัติการ
3.     สื่อประเภทเทคนิคและวิธีการ  ได้แก่  การสาธิต  การอภิปรายกลุ่ม  การฝึกปฏิบัติการฝึกงาน  การจัดนิทรรศการ  และสถานการณ์จำลอง
4.     สื่อประเภทคอมพิวเตอร์  ได้แก่  บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI)  ,การนำเสนอด้วยคอมพิวเตอร์ (computer  presentation)  ,การใช้อินเทอร์เน็ต  ,อินเทอร์เน็ตเพื่อการสื่อสาร  และการใช้  www                    ( world  wide  web )

                 ในปัจจุบันนวัตกรรมมีรูปแบบหลากหลายมากมาย  เพื่อให้เราสามารถนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพของบริบทแต่ละสถานที่  ผู้เรียน  และปัจจัยอื่นๆ ด้วย  ซึ่งสามารถเลือกใช้ตามประเภทของนวัตกรรม  ดังนี้
                   1.        บทเรียนสำเร็จรูป
                   2.        ชุดการสอน
                   3.        แผ่นภาพโปร่งใส
                   4.        เอกสารประกอบการสอน
                   5.        บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
                   6.        วีดีทัศน์
                   7.        สไลด์
                   8.        เกม
                   9.        สื่อประเภทอุปกรณ์
                  10.       มัลติมีเดีย
                  11.       internet
                  12.       e-learning

                องค์ประกอบที่สำคัญในการพัฒนาการศึกษา  ได้แก่ 
ครูผู้สอน  -  ต้องมีความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมประเภท  Multimedia  สามารถจัดทำสื่อนวัตกรรมออกมาใช้ในการเรียนการสอน  เพื่อให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองได้ตามศักยภาพอย่างเต็มที่  และเต็มความสามารถ 
ผู้เรียน  -  จะต้องสนใจใฝ่เรียนรู้ในเรื่องของการใช้นวัตกรรมในรูปแบบของไอทีให้มากขึ้น 
เพื่อจะได้เกิดความคุ้นเคย แล้วสามารถใช้สื่อได้อย่างถูกต้อง 
                สถานศึกษา   ต้องจัดทำสื่ออุปกรณ์เทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์ให้พร้อมเพื่อสนองต่อความต้องการของผู้เรียนและทำให้การจัดกระบวนการเรียนการสอนมีความสมบูรณ์  ซึ่งจะส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการนำนวัตกรรมการเรียนรู้ไปพัฒนาการศึกษาให้มีความเจริญ ก้าวหน้าต่อไป
                
                ดังนั้น ในการพัฒนาการศึกษา  จึงควรมีการพัฒนาองค์ประกอบทั้งสามเพื่อสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ให้คนสนใจ  และใคร่ที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา   เพราะนวัตกรรมการเรียนการสอนต่อไปน่าจะมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น  เนื่องจากปัจจุบันมีการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  ซึ่งต้องมีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามสภาพจริง  เรียนรู้จากประสบการณ์ผู้เรียนจึงจะทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ  ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย  มีความสนใจกระตือรือร้น และเกิดความอยากรู้อยากเห็น
                


อ้างอิง  : บทความทางวิชาการ นวัตกรรมการเรียนรู้สู่การพัฒนาการศึกษา. [ออนไลน์]. [ม.ป.ป.].  เข้าถึงได้จาก : http://nutchanatmk20.multiply.com/journal/item/5/5  [2 เมษายน 2554] 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น